วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประเพณีทำขวัญข้าวของชาวนา


ประเพณีทำขวัญแม่โพสพ (ข้าว) ตามความเชื่อว่าแม่โพสพมีพระคุณจึงต้องทำขวัญเป็นการกล่าวขอขมาต่อต้นข้าว ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับข้าว ทั้งการเกิดเองตามธรรมชาติ และจากการที่มนุษย์จะกระทำอะไรก็ตามกับต้นข้าว เช่น เกี่ยวข้าว อีกทั้งเพื่อเป็นการขอบคุณและเอาใจแม่โพสพที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา และเพื่อขออภัยและเรียกขวัญแม่โพสพ เป็นสิริมงคลดลบันดาลให้มั่งมียิ่งขึ้น ปกติจะทำกันในวันศุกร์ซึ่งถือว่าเป็นวันขวัญข้าว
        ประเพณีทำขวัญข้าวของบางจังหวัด อาจมีประเพณีทำขวัญข้าว อยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงที่ข้าวตั้งท้อง และช่วงข้าวพร้อมเกี่ยว โดยในแต่ละช่วงจะมีเครื่องเซ่นไม่เหมือนกัน เครื่องเซ่นของการทำขวัญข้าวตอนตั้งท้อง ด้วยความเชื่อที่ว่า แม่โพสพเป็นมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกัน พอข้าวตั้งท้อง จึงเชื่อว่าจะอยากทานอาหารเหมือนคนท้อง สิ่งที่ขาดไม่ได้ในเครื่องเซ่นช่วงดังกล่าวจึงเป็นของรสเปรี้ยว อ้อย น้ำมะพร้าว นอกเหนือจากหมาก พลู ธงกระดาษสีต่างๆ ผ้าแดง ผ้าขาว ใส่ลงในชะลอมเล็ก ๆ มีเส้นด้ายสีแดงและสีขาวเพื่อผูกเครื่องเซ่นเข้ากับต้นข้าว ดอกไม้ และด้วยความเชื่อว่าแม่โพสพเป็นผู้หญิง จึงต้องมีน้ำอบ น้ำหอมด้วย โดยคนที่ทำพิธีมักจะเป็นผู้หญิงเจ้าของที่นา แต่พิธีนี้ให้โอกาสผู้ชายทำได้แต่ไม่นิยม หลังจากมัดโยงเครื่องเซ่นกับต้นข้าวด้วยด้ายสีแดงและขาวเข้าด้วยกันแล้ว ผู้ทำพิธีจะพรมน้ำหอมแป้งร่ำต้นข้าว จากนั้นจึงจุดธูปปักลงบนที่นาพร้อมกล่าวคำขอขมาต่าง ๆ แล้วแต่ที่จะนึกได้ ส่วนมากก็จะเป็นการบอกกล่าวถึงสิ่งที่กำลังจะทำ เช่น ขอให้มีรวงข้าวสวย มีข้าวเยอะ ๆ ให้ผลผลิตสูง ๆ เมื่อพูดทุกอย่างที่อยากพูดจบก็ต้อง กู่ร้องให้แม่โพสพรับทราบเจตนาดัง ๆ
         เมื่อข้าวเริ่มตั้งท้องชาวนาจะเอาไม้ไผ่มาสานชะลอมแล้วนำเครื่องแต่งตัวของ หญิง เช่นแป้ง น้ำมันใส่ผม น้ำอบไทย หวี กระจกใส่ในชะลอม พร้อมด้วยขนมหวานสักสองสามอย่าง ส้มเขียวหวาน ส้มโอแกะกลีบ ปักเสาไม้ไผ่แล้วเอาชะลอมแขวนไว้ในนา เพื่อให้แม่พระโพสพแต่งตัวและเสวยสิ่งของนั้น จะได้ออกรวงได้ผลดี เขาเรียกว่า เฉลว
        หลังจากพิธีทำขวัญข้าวในช่วงข้าวพร้อมเกี่ยว ก็ทำการเก็บเกี่ยวข้าวได้เลย หลังจากนั้นก็เตรียมตัวทำพิธี รับขวัญแม่โพสพ ในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปีต่อไป แม้ว่าการทำนาปัจจุบันจะทำได้ถึงปีละ 3 ครั้งแต่ประเพณียังคงต้องทำตามการปลูกข้าวตามฤดูกาลในอดีตเท่านั้น การทำขวัญข้าว ผู้ชายสามารถทำขวัญข้าวได้ แต่รับขวัญข้าวไม่ได้เด็ดขาด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  • สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน. งานไม้ไผ่ในชีวิตคนเอเซียและแปซิฟิค. ม.ป.พ, (2537)
  • ทองคำ พันนัทธี. "ไม้ไผ่กับชีวิตไทย". วัฒนธรรมไทย. ป.35 ฉ.12 (กันยายน 2541) หน้า 19-21

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น